ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เป็นหนึ่งในความกังวลของคนไข้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดฟิลเลอร์มาก่อน กลัวผลข้างเคียง กลัวอันตรายที่อาจเกิดกับดวงตา ซึ่งข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ คือการฉีดฟิลเลอร์ที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอันตรายครับ ในกรณีที่ฉีดฟิลเลอร์ตาบอดเป็นความเสี่ยงที่ล้วนแล้วเกิดจากผู้ฉีดไม่ใช่แพทย์ ไม่ชำนาญการฉีด หรือฉีดฟิลเลอร์ปลอมที่ไม่ได้มาตรฐานครับ
สำหรับผู้ที่มีปัญหาริ้วรอยร่องลึก หรือต้องการปรับรูปหน้าให้อ่อนเยาว์อยู่เสมอ การฉีดฟิลเลอร์ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดี และแก้ปัญหาได้ตรงจุดอยู่ครับ ส่วนจะเลือกฉีดที่ไหนกับใครถึงจะปลอดภัย หมอมีข้อมูลมาฝากครับ
สารบัญ ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เกิดจากอะไร ?
เพื่อให้คนไข้สามารถตัดสินใจเลือกฉีดฟิลเลอร์ถูกหมอ ถูกคลินิก ได้ผลลัพธ์ที่ดี พร้อมความปลอดภัย ก่อนฉีดควรมีความรู้แล้วเข้าใจก่อนว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้ฉีดฟิลเลอร์ตาบอด และควรระวังอย่างไร ?
ฟิลเลอร์แล้วตาบอดเป็นไปได้อย่างไร ? กรณีที่ฉีดฟิลเลอร์ตาบอดเป็นเพราะลักษณะกายวิภาคบนใบหน้าของเรา บริเวณดวงตาจะมีเส้นเลือดแดงใหญ่ ที่นำเลือดมาเลี้ยงอวัยวะบริเวณลูกตา (Central Retinal Artery Occlusion (CRAO)
หากตัวแพทย์ผู้ฉีดฟิลเลอร์ไม่ชำนาญ โดยเฉพาะในการใช้เข็มคมฉีดแล้วเกิดการผิดพลาด ฉีดเข้าหลอดเลือดแดง ทำให้ฟิลเลอร์เกิดการอุดตันในหลอดเลือดใหญ่ ที่เชื่อมไปยังจอประสาทตา หากแก้ไขฉีดสลายฟิลเลอร์ไม่ทัน ผลข้างเคียงที่น่ากลัวที่สุดคือตาบอดครับ แต่การฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หากรู้สาเหตุและป้องกันอย่างถูกต้อง ซึ่งสาเหตุ หลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมีดังนี้
สาเหตุที่ 1 ตำแหน่งฉีดฟิลเลอร์มีความเสี่ยงตาบอด
ทุกตำแหน่งบนใบหน้าล้วนมีความสำคัญ หากฉีดฟิลเลอร์กับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ ฉีดผิดวิธี ฉีดผิดจุด ย่อมมีความเสี่ยง เนื่องจากบริเวณใบหน้าเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดแดง รวมถึงมีเส้นเลือดที่เชื่อมโยงกับดวงตา
หากไล่จากส่วนบนลงมาการฉีดฟิลเลอร์หน้าผาก รวมถึงบริเวณร่องหัวคิ้ว-ระหว่างคิ้ว ที่มีเส้นเลือด Supratrochlear และ Supraobitalartery ที่เชื่อมไปบริเวณดวงตา
ฟิลเลอร์จมูก เนื่องจากบริเวณดั้งจมูกมีโครงข่ายเส้นเลือดมาก (Dorsal และ Lateral Nasal artery) โอกาสแทงเข็มถูกเส้นเลือดจึงมีสูง
อีกตำแหน่งที่มักพบว่าทำให้เกิดเนื้อตาย และตาบอดได้ ซึ่งพบได้น้อยและไม่รุนแรงเท่า คือการฉีด ฟิลเลอร์ร่องแก้ม หรือ ฟิลเลอร์แก้มตอบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีแขนงเส้นเลือดเชื่อมไปยังดวงตา แต่ก็ยังอยู่ไกลลูกตาอยู่มาก หากฉีดพลาดมักพบปัญหาเนื้อตายส่วนแก้มและข้างจมูก เพราะขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือด หรือหากไม่เข้าหลอดเลือดก็อาจจะทับกันเป็นก้อนเบียดบังเส้นเลือด
สังเกตได้จากหลังฉีด 1-2 วันจะมีอาการปวดบวมบริเวณร่องแก้ม หรือบริเวณใต้ตา จากนั้นจะค่อย ๆ อักเสบ มีตุ่มหนองคล้ายการติดเชื้อ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์เร่งด่วน
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งใกล้เคียงกับดวงตาอย่างฟิลเลอร์ใต้ตา แต่พบได้น้อยกว่า เพราะเส้นเลือดแดงอยู่ต่ำกว่าขอบตา แต่ก็อาจเกิดได้หากฉีดใกล้ลูกตา และแพทย์ไม่เก่งพอ
อ่านบทความเพิ่มเติม : ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อนบวม เกิดจากอะไร ? มีวิธีแก้ไขอย่างไร
สาเหตุที่ 2 ฉีดฟิลเลอร์ปลอม
ฟิลเลอร์ที่ใช้ในวงการความงาม คือ สารไฮยาลูรอนิคแอซิด (Hyaluronic Acid) หรือ HA ซึ่งมีความปลอดภัยสูงครับ เช่น Restylane ,Juvederm Belotero Definisse เป็นต้น
แต่ก็มีฟิลเลอร์ปลอมที่มีการแอบนำมาใช้เพราะมีราคาถูกกว่ามาก ส่วนใหญ่จะเป็นสารประเภท ซิลิโคนเหลว หรือ พาราฟิน ที่เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะไม่สามารถสลายเองได้ตามธรรมชาติ และไม่สามารถฉีดสลายได้เช่นกัน
ในบางคลินิกที่ยังมีการแอบอ้างว่า หลังฉีดฟิลเลอร์จะสามารถคงผลลัพธ์ได้นาน 2-5 ปี ล้วนไม่เป็นความจริงครับ เพราะปัจจุบัน ฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid ไม่มียี่ห้อไหนที่อยู่ได้นานเกิน 2 ปี หากนำมาใช้จะทำเกิดผลเสียที่อันตรายแน่นอนครับ รวมถึงฉีดแล้วเกิดปัญหาตาบอด เพราะเป็นสารอันตรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรง
สำหรับตัวคนไข้เองก่อนฉีดฟิลเลอร์จึงควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องขอดูกล่อง ดูยา และต้องเห็นการแกะกล่องยาต่อหน้า เพื่อป้องกันการสอดไส้ตัวยาฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาฉีดให้
อ่านบทความเพิ่มเติม : วิธีดูฟิลเลอร์แท้แต่ละยี่ห้อ ต้องสังเกตอย่างไร ?
สาเหตุที่ 3 ฉีดหมอกระเป๋า หมอเถื่อน
สาเหตุนี้ถือเป็นสาเหตุสำคัญครับ เพราะหมอกระเป๋าไม่มีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องของกายวิภาคบนใบหน้า ตามที่เห็นในข่าวที่แชร์กัน เกี่ยวกับอันตรายหลังฉีดฟิลเลอร์ หากอ่านเนื้อหาจะพบว่า ผู้ฉีดมักไม่ใช่แพทย์ เป็นหมอเถื่อน หมอกระเป๋า หรืออีกกรณีคือเป็นแพทย์ตัวจริงแต่ขาดประสบการณ์ ก็อาจฉีดผิดจุดพลาดโดนเส้นเลือดเกิดการอุดตันได้ แต่หากเป็นคลินิกที่ได้มาตรฐาน เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ครบก็จะสามารถแก้ไขได้ทัน
โดยทั่วไปแพทย์ที่ประสบการณ์น้อยจะเริ่มหัดฉีดในบริเวณที่ความเสี่ยงน้อย เช่น ฟิลเลอร์คาง มุมปาก ฟิลเลอร์ร่องแก้ม ฟิลเลอร์ปาก เพราะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่สำหรับบริเวณจมูก หน้าผาก ใต้ตา หมอผู้ฉีดจะต้องมีประสบการณ์และชำนาญการฉีดฟิลเลอร์เท่านั้น เพราะนอกจากเรื่องของตำแหน่งแล้ว เทคนิคการฉีดก็สำคัญ การออกแรงกดเข็ม แรงดันขณะฉีดสารเติมเต็มฟิลเลอร์ การเลือกใช้เข็ม ขนาดของเข็ม และไซริงค์ที่ฉีด ล้วนมีผลต่อความปลอดภัยครับ
ฉีดฟิลเลอร์ อันตรายไหม ?
การฉีดฟิลเลอร์ จริง ๆ แล้วมีความปลอดภัยสูงมากครับ แต่ในบางตำแหน่งอาจมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดผลข้างเคียง ตามที่กล่าวไป จึงต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ผู้ฉีด
ดังนั้น ในวงการความงามแพทย์ที่ยังมีประสบการณ์น้อย เริ่มหัดฉีดฟิลเลอร์ จึงมีการฝึกอบรมอย่างจริงจังครับ สะสมประสบการณ์และศึกษากายวิภาคศาสตร์ของใบหน้าอย่างลึกซึ้ง ไม่มีวิธีเรียนลัด เพื่อให้สามารถฉีดฟิลเลอร์ออกมาได้อย่างสวยงาม มีความปลอดภัยครับ
สถิติการฉีดฟิลเลอร์แล้วทำให้ตาบอด
อย่างที่กล่าวไปว่า การฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ และในต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งยุโรป อเมริกา เกาหลี มีการใช้ฟิลเลอร์เพื่อปรับรูปหน้ามากกว่าประเทศไทยครับ ก็ยังไม่ข้อมูลที่ต้องเป็นกังวล
ส่วนในรายงานเกี่ยวกับสถิติผลข้างเคียงหลังการฉีดสารเติมเต็มที่เคยมีจากทั่วโลก บริเวณที่พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนมากที่สุดคือ
- บริเวณหว่างคิ้ว (Glabella) 38.8%
- บริเวณจมูก (Nasal Region) 25.5%
- บริเวณร่องแก้ม (Nasolabial Fold; NLF) 13.3%
โดยมีอาการตาบอด 98 ราย แต่สารเติมเต็มที่ใช้เป็นการฉีดด้วยไขมัน(Fat) 47.9% ขณะที่ฟิลเลอร์ประเภทไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) มีเพียง 23.5% ครับ เพราะปัจจุบันฟิลเลอร์แท้ประเภทไฮยาลูโรนิค แอซิด สามารถฉีดสลายออกได้
อย่างไรก็ตามจากสถิติ และตัวเลขแสดงให้เห็นว่าฉีดฟิลเลอร์ประเภทไฮยาลูโรนิค แอซิด แล้วตาบอดมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แต่ถือว่าเป็นอัตราที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และไม่ใช่ทุกคนเมื่อได้รับฟิลเลอร์แล้วจะตาบอด
อาการหลังฉีดฟิลเลอร์แล้วเสี่ยงตาบอด ที่ควรพบแพทย์
ตามรายงานอาการหลังฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดขั้นรุนแรง เพราะฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรงจะเกิดขึ้นได้ทันทีหลังฉีดครับ โดยคนไข้จะมีอาการปวดตา ตามัว ไม่สามารถเห็นแสงได้ การแก้ไขต้องทำในทันทีเช่นกัน ด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์ รวมถึงการให้ตัวยาขยายหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงดวงตาได้
ตัวอย่าง ภาพคนไข้ที่ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
อีกลักษณะอาการที่พบ ตามที่เคยมีการรายงาน และเป็นข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าเกิดภายหลัง 2 ชั่วโมง นับจากฉีดฟิลเลอร์ โดยจะรู้สึกปวดหน้า แสบหน้า จากนั้นอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเนื้อเยื่อขาดเลือดหรือได้รับเลือดไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการเนื้อตาย การอักเสบรุนแรง เนื้อเยื่อบางส่วนเน่า เห็นเป็นตุ่ม หนองพองขึ้น
หากปล่อยไว้ รักษาไม่ทันจะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด หรือรุนแรงกว่านั้นอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ครับ
ตัวอย่างการฉีดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือดและเกิดการอุดตัน
อ่านบทความเพิ่ม : อาการแพ้ฟิลเลอร์คืออะไร ? อันตรายหรือไม่ ? ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ ?
เลือกฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี ปลอดภัย ลดความเสี่ยงทำให้ตาบอด
- ฉีดฟิลเลอร์ในคลินิกที่ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข สะอาด ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ มีเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ของผู้ประกอบการและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพไว้ในคลินิกให้เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งคลินิกที่ได้มาตรฐาน จะมีอุปกรณ์และเครื่องมือในการช่วยเหลือยามฉุกเฉินได้ทันท่วงที
สามารถนำชื่อสถานพยาบาลภาษาไทย ไปตรวจสอบบนเว็บไซต์ “ตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับอนุญาต” ได้ ซึ่งจะมีข้อมูลเลขที่ใบอนุญาต วันหมดอายุ และที่ตั้งของสถานพยาบาลอยู่
- ฉีดฟิลเลอร์กับหมอที่มีประสบการณ์และความชำนาญการฉีดฟิลเลอร์ มีความรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี มีการใช้เทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง สามารถวิเคราะห์ ดีไซน์การรักษาที่เหมาะสมและทำด้วยความระมัดระวังมีผลงานหรือการรีวิวจากผู้ที่เคยใช้บริการ
- ใช้ฟิลเลอร์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นฟิลเลอร์ที่ผ่าน อย. ทั้งในและต่างประเทศ ให้เหมาะสมกับพื้นที่บริเวณใบหน้าหรือสอบถามแพทย์ทำความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับฟิลเลอร์ชนิดต่าง ๆ ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด ในแต่ละบุคคล
อ่านบทความเพิ่มเติม ฉีดฟิลเลอร์ยี่ห้อไหนดี ? ใต้ตา ปาก ร่องแก้ม คาง ควรเลือกใช้รุ่นไหนดีที่สุด ที่นี่มีคำแนะนำ
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนและหลัง ร่วมกับสังเกตอาการหลังฉีดเพื่อช่วยลดความรุนแรงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมา ความคาดหวังต่อผลการรักษาก่อนและหลัง
สรุป
การฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดเป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่โอกาสเกิดขึ้นก็มีน้อยมากเช่นกัน รวมถึงยังสามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการฉีดฟิลเลอร์จากแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ในโครงสร้างบริเวณใบหน้าได้เป็นอย่างดี ภายใต้คลินิกที่ได้มาตรฐาน ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวยาที่เป็นของแท้ ก็ช่วยให้การฉีดฟิลเลอร์เป็นไปอย่างปลอดภัยแล้วครับ
เอกสารอ้างอิง
- A Guide to Safety in Dermatologic Cosmetic Procedures: Avoidance and Management of Common Pitfalls and Perils
- Complications of Injectable Fillers, Part 2: Vascular Complications
สามารถ comment สอบถามเข้ามาด้านล่างได้เลยนะครับ หมอตอบเองครับ