วี สแควร์

สิวเกิดจากอะไร  รู้จักสิวให้มากขึ้น วิธีทำให้สิวหายขาด ป้องกันปัญหาสิวใหม่

Reading Time: 4 minutes
สิวเกิดจากอะไร1000x860

สิวเกิดจากอะไร ? รู้สาเหตุ และวิธีทำให้สิวหายขาด

“สิว” เป็นปัญหาผิวหน้าที่พบได้บ่อย ตั้งแต่วัยเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น แต่บางคนแม้จะพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้วแต่ก็ยังเกิดปัญหาสิวซ้ำซาก เป็นสิวเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ หน้าไม่ใส ไม่เกลี้ยงเกลาเพราะมีสิวมากวนใจตลอด และยังทิ้งรอยดำ รอยแดง หรือหลุมสิวไว้ จนขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตไปเลยก็มีครับ

ในบทความนี้ หมอจะมาเจาะลึกว่า สิวเกิดจากอะไร สาเหตุที่ทำให้เกิดสิวมีอะไรบ้าง สิวมีกี่แบบ กี่ประเภท วิธีรักษาสิวแบบไหนที่ดีที่สุด พร้อมแนะนำวิธีดูแลตัวเองไม่ให้กลับมาเป็นสิวอีก ติดตามได้ในบทความนี้ครับ

สารบัญ สิว


สิว คืออะไร

สิว (Acne) คือ การแสดงออกของโรคทางผิวหนังที่มีการอักเสบเรื้อรังของ pilosebaceous unit  ได้แก่ รูขุมขน (follicles) และต่อมไขมัน (sebaceous gland) ทำให้เกิดตุ่มนูนบนผิวหนัง ที่เรียกว่า สิวอุดตัน (Comedone) หรือ สิวผด และถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่อยู่บริเวณผิวหนัง เช่น  Propionibacterium acnes (P.acnes), Malassezia spp. หรือ Staphylococcus epidermidis (S.epidermidis) เกิดการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น จะดึงดูดเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามารวมกลุ่มอยู่ในตุ่มสิว และเอนไซม์ช่วยในการย่อยน้ำมัน กระตุ้นให้สิวอุดตันเกิดการอักเสบ เห็นเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มมีหนอง หรือเรียกว่า “สิวอักเสบ” และในรายที่เกิดการอักเสบมาก ๆ อาจมีอาการอักเสบบริเวณกว้างลึกลงไปในชั้นผิว ที่เรียกว่า “สิวหัวช้าง” นั่นเอง โดยสามารถพบได้ทั้งบริเวณใบหน้า รวมถึงบริเวณหลัง หรือหน้าอกครับ


สาเหตุการเกิดสิว

  1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด เพราะทุกคนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะพบระดับฮอร์โมน Androgen ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเพศชาย ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าว จะกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลิตไขมันออกมามากขึ้น ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน จนเกิดเป็นสิวตามมาได้ครับ

ส่วนในเพศหญิง บางรายจะมีสิวเห่อช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือขณะมีประจำเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมน Progesterone เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการบวมของรูขุมขน และการคั่งของน้ำในร่างกาย เกิดการอุดตันของสิว จนเกิดสิวอักเสบตามมาในที่สุด

  1. การใช้เครื่องสำอาง

การใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ลงบนผิว ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิว เพราะครีม แป้ง หรือเครื่องสำอางต่าง ๆ มีโอกาสเข้าไปอุดตันรูขุมขนและเกิดสิวตามมาได้ครับ ในผู้ที่มีปัญหาสิวบ่อย ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน และมีน้ำเป็นส่วนประกอบ (oil-free, water-based) และควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ประเภท noncomedogenic และ non-acnegenic ครับ

  1. การรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหารรสหวาน มัน ของทอด แป้งหรือน้ำตาลมากเกินไป อาจทำให้เกิดสิวอักเสบมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีงานวิจัยรองรับว่าเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดสิวครับ  หมอแนะนำว่าหากรับประทานชนิดใดบ่อย ๆ แล้วเกิดสิวเพิ่มมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ จะดีกว่าครับ

  1. พฤติกรรมการใช้ชีวิต

พฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดสิวมากขึ้น เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การสูบบุหรี่ การทำความสะอาดร่างกาย ล้วนมีผลทำให้เกิดสิวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงตามการใช้ชีวิต และการเจรฺิญของจุลชีพบนผิว ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบครับ

  1. มลภาวะและสิ่งแวดล้อม

มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นละออง ควัน ส่งผลให้เกิดสิวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถเกาะติดและอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิดสิวได้ในที่สุด นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ผิวจะเกิดการเสียดสีและหน้ากากอับชื้นจากลมหายใจ แบคทีเรียที่ผิวจะเจริญที่รูขุมขนได้มากขึ้น ทำให้เกิดสิวทั้งอุดตันและอักเสบตามมาได้ง่ายขึ้นครับ

  1. ภาวะแอนโดรเจนเกิน (Hyperandrogenism/Hyperandrogenemia)

ภาวะแอนโดรเจนเกินเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมน Androgen มามากเกินไป เกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยเฉพาะในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ผิวผลิตน้ำมันออกมาเป็นจำนวนมาก มักจะทำให้เกิดสิวระยะรุนแรงและเกิดขึ้นรวดเร็ว ร่วมกับมีขนขึ้นตามร่างกายมากกว่าปกติ ผมร่วง ศีรษะล้าน ประจำเดือนมาไม่ปกติ โรคที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่ PCOS, CAH, Adrenal neoplasia และ Ovarian neoplasms

4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิว

  1. ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากเกินไป (Excessive sebum production)
  2. การผลัดเซลล์ผิวในรูขุมขนผิดปกติ (Follicular Hyperkeratinization)
  3. การเจริญของแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (Increase P. acnes colonization)
  4. การอักเสบ (Inflammation)

ในการแก้ปัญหาสิวที่ได้ผล จำเป็นต้องทราบก่อนว่าปัญหาสิวนั้นเกิดจากสาเหตุใด ควรเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์เพื่อประเมินสภาพผิว หาสาเหตุการเกิดสิว และกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสมครับ


สิวมีกี่ประเภท

สิว แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. Non- inflamed lesions สิวชนิดไม่อักเสบ

1.1 Blackheads (Open comedone) สิวอุดตันหัวเปิด สิวเสี้ยนหรือสิวหัวดำ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีดำหรือเหลืองขนาดเล็กบนผิวหนัง โดยสีดำหรือเหลืองดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุชั้นในของรูขุมขนผลิตเม็ดสี สามารถบีบออกหรือกดให้ออกมาจากใต้ผิว แต่อาจเกิดการอักเสบและเป็นรอยสิวได้

1.2 Whiteheads (Closed comedone) สิวอุดตันหัวปิด สิวหัวขาว มีลักษณะคล้ายสิวหัวดำแต่จะมีสีขาว แน่น และยากต่อการบีบออก รากสิวอยู่ลึกกว่าและรักษาได้ยากกว่าสิวหัวดำ มีโอกาสเกิดการติดเชื้อและพัฒนาเป็นสิวอักเสบ

ลักษณะของสิวอุดตัน
  1. Inflamed lesions สิวชนิดอักเสบ

2.1 Papules/Red papules สิวแบบตุ่ม สิวผื่น เป็นสิวที่เป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็กอยู่ภายในผิว สัมผัสแล้วเจ็บ มักเป็นสิวอักเสบในระยะแรกที่เปลี่ยนมาจากสิวอุดตัน

2.2 Pustules สิวหนอง หรือสิวหัวหนอง มีลักษณะคล้ายสิวแบบตุ่ม แต่มีหนองสีขาวให้เห็นอยู่ตรงกลาง พัฒนามาจากสิวแบบตุ่ม โดยมักจะเกิดจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น

2.3 Nodules สิวอักเสบลึก สิวอักเสบแดงเป็นก้อนลึก เป็นสิวขนาดใหญ่มากกว่า 8 mm โดยอาจพบเป็นหลายหัวสิวที่อยู่ติดกัน มีการอักเสบอย่างรุนแรง จะรู้สึกเจ็บ ปวด แม้ไม่ได้มีการสัมผัส มักเกิดจากการบีบหรือกดสิว ทำให้แบคทีเรียและน้ำมันในตุ่มสิวแตกกระจายอยู่ใต้ผิวหนัง จึงทำให้สิวยิ่งอักเสบบวมแดงรุนแรงมากขึ้น

2.4 Cyst สิวซีสต์ สิวฝี เป็นสิวที่เกิดการอักเสบรุนแรงที่สุด มักพัฒนามาจากสิว Nodules ที่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี ทำให้ผนังของโพรงขนถูกทำลายแตกออก แบคทีเรียและเศษเซลล์หลุดเข้าสู่ผิวชั้นใน เกิดเป็นถุงอักเสบขนาดใหญ่และลึก จะเห็นเป็นลักษณะก้อนหนองขนาดใหญ่ อาจปนเลือดในบางราย คล้ายถุงใต้ผิวหนัง สิวประเภทนี้แม้จะรักษาสิวจนหายก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดรอยแผลเป็นถาวรได้ 

ประเภทของสิว

วิธีประเมินความรุนแรงของปัญหาสิว

  • ระยะไม่รุนแรง : มีสิวอุดตันเป็นส่วนใหญ่ / สิวแบบตุ่ม, สิวหัวหนอง น้อยกว่า 10 จุด
  • ระยะรุนแรงปานกลาง : มีสิวแบบตุ่ม, สิวหัวหนอง น้อยกว่า 10 จุด และ สิวอักเสบลึก น้อยกว่า 5 จุด
  • ระยะรุนแรง : มีสิวแบบตุ่ม, สิวหัวหนอง, สิวอักเสบลึก และสิวซีสต์ จำนวนมาก อักเสบเป็นเวลานาน ควรพบแพทย์โรคผิวหนังเพื่อทำการรักษา

สิวเกิดขึ้นบริเวณไหนได้บ้าง

  • สิวบนใบหน้า ใบหน้า เป็นบริเวณที่พบปัญหาสิวมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า T-Zone ได้แก่ หน้าผาก จมูก และคาง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เรียงกันเป็นรูปคล้ายตัว T เพราะเป็นจุดที่มีต่อมไขมันมากกว่าบริเวณอื่น ๆ บนใบหน้า
  • สิวที่หลัง พบได้ประมาณ 50% ของคนที่มีปัญหาสิว
  • สิวที่หน้าอก พบได้ประมาณ 15% ของคนที่มีปัญหาสิว
  • นอกจากนี้ยังพบสิวที่คอ ไหล่ ต้นแขนได้ครับ
สิวที่หน้าอก

วิธีรักษาสิว

วิธีรักษาสิวที่ถูกวิธี จะเน้นที่การลดรอยสิวเดิมและป้องกันการเกิดสิวใหม่เป็นหลัก โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มการรักษาได้ดังนี้

การรักษาสิวโดยใช้ยาทาเฉพาะที่

การใช้ยาทารักษาสิว เป็นการใช้ยาทาบนผิวหนังที่เป็นสิวเพื่อรักษาสิวอุดตันและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ มักใช้ในผู้ที่มีปัญหาสิวไม่รุนแรง 

โดยยาทาที่ใช้ เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ มีจุดประสงค์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการทำให้เกิดสิวอักเสบ benzoyl peroxide ช่วยลดการระคายเคืองของผิว และ Retinoid หรืออนุพันธ์วิตามิน A มีคุณสมบัติ ช่วยกระตุ้นเกิดการผลัดเซลล์ผิวเก่า ลดการอุดตันรูขุมขน และเสริมสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของยากลุ่มอื่น ๆ ที่ทำให้การรักษาสิวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Salicylic acid, Azelaic acid และ sulfur เป็นต้น

วิธีการใช้ยารักษาสิว แพทย์จะแนะนำให้ทาทิ้งไว้ 5-10 นาที ทำต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์จึงจะเห็นผล ข้อควรระวังของยาทารักษาสิวคือจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ง่าย อาจทำให้เกิดรอยแดง แห้งหรือลอกได้ จึงควรทาบาง ๆ และเริ่มที่ปริมาณน้อย ๆ และการใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ครับ

การรักษาสิวโดยการทานยา

ในผู้ที่มีสิวอักเสบปานกลางถึงระยะรุนแรง การใช้ยาทาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ยาสำหรับรับประทานร่วมด้วย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เช่น Tetracyclin, Macrolides และ Amoxycilin เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ 

และยาอีกกลุ่มคือ ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามิน A (Isotretinoin) จะใช้ในรายที่มีสิวอาการรุนแรง ดื้อยาปฏิชีวนะ หรือสิวที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดแผลเป็น โดยยามีฤทธิ์กดการทำงานของต่อมไขมันทำให้ผลิตไขมันลดลง ลดปริมาณเชื้อ P. acnes ลดการอักเสบของสิว และยับยั้งการสร้างคอมีโดน (comedone)

นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้ในการรักษาสิวด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral Contraceptives) และยากลุ่ม Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists (GnRH Agonists) ที่มีฤทธิ์ในการรักษาสมดุลของฮอร์โมน Androgen ในร่างกายครับ

การรักษาสิวโดยการรับประทานยา ควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาที่ใช้ในการรักษา อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ตาแห้ง ซึ่งต้องระมัดระวังในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ เพราะอาจทำให้มีการระคายเคือง ส่งผลต่อการทำงานของตับ กล้ามเนื้อ ไขมันในร่างกาย และไม่ควรทานยาขณะตั้งครรภ์ เพราะจะส่งผลให้ทารกเกิดความพิการได้ครับ

การรักษาสิวโดยวิธีทางกายภาพ

  • การกดสิว 

การรักษาสิวด้วยการกดสิว คือการนำหัวสิวอุดตันที่อยู่ใต้ผิวหนังออกได้เร็วขึ้น เพราะถ้าปล่อยไว้อาจเกิดเป็นสิวอักเสบตามมาได้ โดยการกดสิวเป็นวิธีที่ไม่ต้องเจ็บตัวมาก ปลอดภัย แต่ต้องทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือสะอาดปลอดเชื้อเท่านั้น เพราะถ้ากดสิวออกไม่หมด อาจเกิดปัญหาสิวอักเสบตามมาได้ หรือถ้ากดสิวไม่ถูกวิธี อาจจะทิ้งรอยดำ รอยแดง หลุมสิว ที่ยากต่อการแก้ไขได้ครับ

  • การฉีดยาใต้หัวสิว, การฉีดสิว

การฉีดสิวเป็นการรักษาสิวโดยใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ฉีดเข้าไปใต้หัวสิว (Intralesional corticosteroid injections) ใช้รักษาสิวอักเสบแบบตุ่ม สิวหนอง และสิวอักเสบลึก สิวซีสต์ สิวหัวช้าง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ อาจเกิดรอยบุ๋มรอบจุดที่ฉีดหลังผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ และกลายเป็นรอยแผลเป็นถาวรได้ มีอาการช้ำจากการฉีด ผิวหนังอักเสบได้ จึงควรฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้น และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคเบาหวานชนิดควบคุมอาการไม่ได้ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง โรคสะเก็ดเงิน และผู้มีประวัติแพ้ยาไตรแอมซิโนโลน ควรหลีกเลี่ยงการฉีดสิวครับ

  • วิธี Chemical peeling

การรักษาสิวด้วยวิธี Chemical peeling คือการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น AHA, BHA หรือ TCA ทาลงไปที่ผิวหนังด้วยปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ผิวหนังชั้นนอกเกิดการหลุดลอกและซ่อมแซมผิวชั้นบนขึ้นมาใหม่ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เรียกว่า การผลัดเซลล์ผิว นั่นเองครับ ผิวที่สร้างขึ้นมาใหม่จึงนุ่ม ดูสดใสขึ้น และช่วยลดการอุดตันของสิว ลดการเกิดสิวได้ครับ สารเคมีแต่ละตัวที่จะนำมาใช้ มีความสามารถในการซึมผ่านชั้นผิวที่ความลึกแตกต่างกัน และความเข้มข้นที่ใช้ก็ส่งผลต่อการรักษา ดังนั้นควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้นครับ 

รักษาสิวด้วย chemical peeling

การรักษาเสริม  adjunctive therapy

  • การใช้สกินแคร์เพื่อรักษาสิว

หากเริ่มเป็นสิว สิ่งแรกที่คนมักจะนึกถึงคือการทาครีม ทาสกินแคร์ เพราะเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องเจ็บตัว ซึ่งการรักษาสิวด้วยสกินแคร์จะเหมาะกับคนที่มีสิวไม่มาก อยู่ในระยะไม่รุนแรงจนถึงระยะปานกลาง การเลือกใช้สกินแคร์มีส่วนสำคัญมากกับผลการรักษาครับ ควรเลือกใช้สูตรอ่อนโยน มีส่วนผสมของมอยส์เจอไรเซอร์ , AHA และ BHA เป็นต้น และเป็นสกินแคร์ประเภท Water-based หรือ silicone-based (cyclomethicone, dimethicone) หลีกเลี่ยงสกินแคร์ประเภท  oil-based หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบกันน้ำ (Waterproof) ครับ แต่การใช้สกินแคร์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ๆ ต้องทำต่อเนื่องนานหลายเดือนครับ

  • การฉีดเมโสหน้าใส ฉีดวิตามินผิว

การฉีดเมโสหน้าใส เป็นการฉีดตัวยา สารสกัดที่มีประโยชน์ต่อผิว รวมถึงวิตามินเข้าสู่ชั้นผิว เสมือนเป็นทางลัดในการนำส่วนผสมที่มีอยู่ในครีมต่าง ๆ เข้าสู่ผิวโดยตรง โดยเฉพาะสารที่ดูดซึมยาก ทำให้เห็นผลได้ไวกว่าการทาครีมครับ

เมโสหน้าใสจะเน้นในการป้องกันการเกิดสิวใหม่เป็นหลัก โดยจะช่วยบำรุง ฟื้นฟูผิวที่เสื่อมสภาพและแก้ปัญหาต่าง ๆ บนผิวหน้า ทำให้ผิวชุ่มชื้น ขาวกระจ่างใส ลดการอักเสบ ช่วยขับสารพิษที่สะสมและทำให้ผิวแข็งแรงขึ้นได้ แก้ไขปัญหาหน้าโทรม นอกจากนี้ยังช่วยลดรอยดำ รอยแดงจากสิวให้ดูจางลง ลดรูขุมขนกว้างได้ครับ

โดยการฉีดเมโสหน้าใสจะเห็นผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ แนะนำให้ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งในช่วง 1 เดือนแรก และทิ้งระยะห่างเป็น 2-3 ครั้งต่อเดือนในเดือนถัดไปเพื่อให้คงสภาพผิวที่แข็งแรง ดูสุขภาพดีไว้ได้ครับ

ตัวยาสำหรับการฉีดเมโสหน้าใสมีหลายยี่ห้อ โดยแต่ละสูตรจะช่วยบำรุงผิวในด้านที่แตกต่างกัน สูตรที่นิยมคือ การฉีดมาเด้คอลลาเจน การฉีด REVs, Tensonez และ Neo glutanex เป็นต้น

การฉีดเมโสหน้าใส

อ่านเพิ่มเติม : ฉีดเมโสหน้าใสคืออะไร? อันตรายหรือไม่ ? ข้อควรรู้ก่อนทำเมโสหน้าใส

  • การทำเลเซอร์ Laser / Light therapy

ในปัจจุบันเครื่องยิงเลเซอร์มีหลากหลายประเภทมากครับ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสิวหรือปัญหาผิวหน้าที่เกิดจากสิวได้แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ได้ดังนี้

เลเซอร์รักษาสิว
  • เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ CO2 

เลเซอร์ CO2 ใช้ในการแก้ไขปัญหาสิวอุดตัน โดยเลเซอร์จะเข้าไปช่วยเปิดช่องทางออกของต่อมไขมัน ให้เกิดการอุดตันน้อยลง และช่วยรักษารอยดำ รอยแดงจากสิว

  • Omnilux นวัตกรรมแสงบำบัด (Light therapy) 

การบำบัดรักษาสิวด้วยแสง จะใช้แสงสีน้ำเงิน (Omnilux Blue) และสีแดง (Omnilux Revive2) ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิวอักเสบ ลดการอักเสบแดง ควบคุมความมันบนชั้นผิว

  • เลเซอร์วีบีม (V beam Pulse dye laser)

เครื่องเลเซอร์แบบ V beam จะเด่นในเรื่องลดรอยแดงจากสิว โดยการส่งความร้อนลงไปยังชั้นผิวหนัง ทำให้เส้นเลือดที่ผิดปกติใต้ผิวหนังถูกทำลาย เกิดการจัดเรียงตัวของเส้นเลือดใต้ผิวหนังใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจน  รอยแดงจึงดูลดลงได้ครับ

  • พิโคเลเซอร์ (Picosecond Laser)

เครื่องเลเซอร์แบบ Picosecond Laser เป็นการใช้คลื่นพลังงานสูงมากในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้เม็ดสีในผิวเกิดการแตกตัว ใช้ในการลดรอยดำจากสิว กระตุ้นคอลลาเจน และช่วยให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้นครับ

การทำเลเซอร์เป็นวิธีที่นิยม ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก แต่ต้องใช้ความต่อเนื่องในการทำ จึงจะเห็นผลดีครับ ซึ่งรวมราคาคอร์สแล้วค่อนข้างสูง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ ชั้นผิวจะบางลง รอยดำเข้มขึ้นหากใช้พลังงานมากเกินไป และไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้เกิดฝ้า กระ ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงและดูแลผิวหลังทำอย่างเคร่งครัดครับ

  • การฉีดฟิลเลอร์หลุมสิว

การฉีดฟิลเลอร์หลุมสิว เป็นการใช้สารไฮยาลูรอนิคแอซิด (Hyaluronic acid) เมื่อฉีดฟิลเลอร์เข้าไปบริเวณที่เป็นหลุมสิว จะช่วยดึงดูดน้ำเข้ามาบริเวณที่ฉีด กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น เรียบเนียนขึ้นได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็ว ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน และไม่ต้องการเสียเวลาพักฟื้น แต่วิธีนี้จะใช้ได้กับหลุมสิวบางประเภทเท่านั้นครับ


การดูแลตัวเองเมื่อเกิดสิว

หากมีสิว แม้จะเป็นจำนวนเล็กน้อย ก็ควรดูแลไม่ให้สิวลุกลาม หรืออักเสบเพิ่มมากขึ้นครับ หมอแนะนำวิธีดูแลตัวเองหากเป็นสิว ดังนี้

  1. ควรล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน สบู่อ่อน และน้ำอุ่น แต่ไม่ควรล้างเกินวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากการล้างหน้ามากเกินไปจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองครับ
ล้างหน้าป้องกันสิว
  1. ไม่ควรบีบ กดสิว เพราะอาจทำให้สิวแย่ลง เกิดเป็นหลุมสิวได้
  2. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง หากจำเป็นต้องแต่งหน้า ควรแต่งอ่อน ๆ ไม่ใช้เครื่องสำอางเยอะเกินไป
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางหรือสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน สังเกตได้จากการพิมพ์บนฉลากของผลิตภัณฑ์คำว่า oil-based หรือ comedogenic ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น water-based หรือ non-comedogenic
  4. ทำความสะอาดเครื่องสำอางที่ผิวก่อนเข้านอนทุกครั้ง
  5. หากเป็นสิวจากปัญหาผิวแห้ง ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าประเภท fragrance-free water-based emollient.ซึ่งเป็นประเภทของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ที่เป็นน้ำมันหรือไขมันหรือมีความสามารถในการละลายน้ำได้น้อย แต่ไม่ก่อตัวเป็นฟิล์มเคลือบผิว ให้ผิวเนียนนุ่ม ชุ่มชื้นขึ้น
  6. สระผมเป็นประจำและดูแลไม่ให้ผมปรกบริเวณใบหน้ามากเกินไป

นอกจากการแก้ไขปัญหาสิวแล้ว หมอแนะนำให้เลือกวิธีทำให้หน้าใส ลดความหมองคล้ำที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าหากไม่มีเวลาหรือต้องการเห็นผลเร่งด่วน ก็มีวิธีช่วยทำให้หน้าใส เช่น การฉีดเมโสหน้าใส การทำเลเซอร์ ซึ่งควรเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ ประเมินสภาพผิว หาสาเหตุของการเกิดสิวก่อนตัดสินใจทำครับ


วิธีป้องกันการเกิดสิว

สิ่งสำคัญที่ลดปัญหาสิวที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดสิว ปัจจัยหลักที่เราสามารถควบคุมได้คือการทำความสะอาดผิวอยู่เสมอ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิว เพื่อขจัดคราบสกปรกที่เป็นสาเหตุของสิวอุดตันครับ

  1. ควรล้างหน้าให้สะอาด เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน รวมถึงใช้โทนเนอร์เช็ดคราบสกปรกหรือเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนบำรุงผิว 
  2. สระผมเป็นประจำ เพื่อลดไขมันและคราบสกปรกบนเส้นผมที่อาจทำให้เป็นสิวได้
  3. ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น เปลี่ยนผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม ทุกอาทิตย์ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดตุ่ม สิวผด สิวไม่มีหัว แก้มเป็นผื่นผด หรือสิวอักเสบที่แก้มได้
  4. หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ 
  5. รักษาสภาพผิวให้แข็งแรง ดูสุขภาพดีอยู่เสมอ เช่น การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ การรับประทานผักผลไม้ การรับประทานวิตามิน อาหารเสริม การฉีดเมโสหน้าใส และการฉีดวิตามินผิว เพื่อบำรุงผิวพรรณให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดสิวในอนาคตได้ครับ

สำหรับผู้อ่านทุกท่านที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ทีมแพทย์ V Square Clinic ทุกคนยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถปรึกษาหมอทาง inbox facebook หรือ Line นี้ได้เลยครับ หมอตอบเองครับ

สามารถ comment สอบถามเข้ามาด้านล่างได้เลยนะครับ หมอตอบเองครับ

บทความแนะนำ

ฟิลเลอร์ (Filler) กับโบท็อกซ์ (Botox) ต่างกันอย่างไร ? ทำพร้อมกันได้ไหม ?

Reading Time: 4 minutes - ฟิลเลอร์ คืออะไร ? - โบท็อกซ์ คืออะไร ? - ฟิลเลอร์ (Filler) กับ โบท็อกซ์ (Botox) ต่างกันอย่างไร ? - เปรียบเทียบข้อดี ข้อจำกัดของฟิลเลอร์ กับโบท็อกซ์ - เลือกฉีดฟิลเลอร์หรือโบท็อกซ์ดี แบบไหนเหมาะกับใครบ้าง ?

15 วิธี กำจัดไขมันส่วนเกิน ดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพและรูปร่า...

Reading Time: 4 minutes - ไขมันส่วนเกิน คืออะไร? - สาเหตุการเกิดไขมันส่วนเกิน - ไขมันส่วนเกิน อันตรายไหม? - 15 วิธีกำจัดไขมันส่วนเกินแบบต่าง ๆ

โบท็อกเยอรมัน Xeomin ช่วยปรับหน้าเรียวดีไหม? มีข้อดีต่างจ...

Reading Time: 3 minutes - โบท็อกเยอรมัน Xeomin คืออะไร? - ฉีดโบท็อกเยอรมัน Xeomin ตำแหน่งไหนได้บ้าง? - ข้อดีของโบท็อกเยอรมัน Xeomin - โบท็อกเยอรมัน Xeomin แตกต่างจากยี่ห้ออื่นอย่างไร? - ขั้นตอนการฉีดโบท็อกเยอรมัน Xeomin

รีวิว CoolSculpting วิธีการสลายไขมันด้วยความเย็นเพื่อหุ่น...

Reading Time: 4 minutes มีคนอ่านบทความนี้แล้ว : 1,587 วันที่อัพเดตล่าสุด : 26 April 2024 CoolSculpting รีวิว รีวิว CoolSclupting วิธีการสลายไขมันด้วยความเย็นด้วยเครื่อง Coolsclupting เพื่อหุ่นสวย หุ่นเฟิร์ม กระชับเข้ารูป สำหรับใครที่ต้องการปรับรูปร่างและลดสัดส่วนเฉพาะจุด แบบไม่อยากผ่าตัด ไม่อยากดูดไขมัน Coolsculpting ช่วยได้ครับ แม้ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็สามารถสลายไขมันสะสมได้โดยไม่ต้องเจ็บตัว Coolsculpting ช่วยลดและกระชับสัดส่วน ได้ทั้งหน้าท้องและไขมันส่วนเกินตามจุดต่างๆ เช่น ต้นแขน,ต้นขา, สะโพก,น่อง,ปีกหลังใต้วงแขน ,เหนียง รวมถึงคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการลดและกระชับสัดส่วนก็ทำได้เช่นกันครับ สารบัญ CoolSculpting ทำไมต้องต้องเลือก Coolsculpting? Coolsculpting ทำตรงไหนได้บ้าง ผลลัพธ์หลังจากทำ Coolsculpting รีวิว Coolsculpting ลดไขมันต้นแขน | นิโคล เทริโอ รีวิว Coolsculpting ลดไขมันหน้าท้อง | แอนดี้ เขมพิมุก รีวิว Coolsculpting | […]

รวมวิธีลดแก้ม ลดเหนียง ปรับหน้าเรียวแบบเร่งด่วน แต่ละวิธี...

Reading Time: 6 minutes - วิธีลดแก้ม แบบเร่งด่วน เห็นผลตั้งแต่สัปดาห์แรก มีอะไรบ้าง? - วิธีลดแก้มแบบ ธรรมชาติ

รวมข้อมูลก่อนตัดสินใจทำ Thermage FLX คืออะไร ราคาเท่าไหร่...

Reading Time: 7 minutes - Thermage คืออะไร? - การทำงานของ Thermage - Thermage ทำตำแหน่งไหนได้บ้าง? - ความแตกต่างระหว่าง Thermage กับ RF ทั่วไป - เครื่อง Thermage มีกี่รุ่น?

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ สามารถศึกษานโยบายความเป็นส่วนตัวและจัดการความเป็นส่วนตัว ได้ที่ปุ่มตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า