สิวอุดตัน
สิวอุดตัน เกิดจากอะไร ? วิธีลดสิวอุดตัน และการดูแลตัวเอง
เชื่อว่าการมีใบหน้าใส ไร้สิว เป็นความปรารถนาของคนเกือบทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสิวซ้ำซาก สิวอุดตัน สิวผด สิวเสี้ยน ซึ่งสิวนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยครับ ทั้งกรรมพันธ์ุ ฮอร์โมน พฤติกรรม หากแก้ปัญหาสิวไม่ถูกจุด รักษาสิวอุดตันด้วยตัวเองแล้วไม่หาย ก็จะมีปัญหาสิวซ้ำ ๆ ทำให้ใบหน้ามีรอยสิว มีจุดด่างดำ เป็นปัญหาน่าหนักใจของหลายคนครับ
ในบทความนี้หมอจะอธิบายถึงสาเหตุการเกิดสิว ลักษณะของสิวอุดตัน การรักษา วิธีป้องกัน การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีปัญหาสิวกลับมากวนใจ
สารบัญ สิวอุดตัน
สิวอุดตัน คืออะไร ?
สิวอุดตัน คือ สิวที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการจับตัวของสิ่งตกค้างที่อยู่ใต้ผิวหนัง เป็นสิวที่ไม่มีการอักเสบ แต่จะเป็นตุ่มนูนอยู่บนผิวหนัง ทำให้ใบหน้าดูไม่เรียบเนียน พบได้บ่อยบริเวณหน้าผาก คาง และแก้ม มักใช้เวลานานในการรักษา พอรักษาจนหายแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีก
ลักษณะของสิวอุดตัน
สิวอุดตัน (Comedones) ส่วนมากจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่ามีตุ่มนูน แข็ง เป็นไตบนผิว และอาจเป็นลักษณะของสิวเสี้ยนอุดตันเม็ดเล็ก ๆ ทำให้ผิวหน้ามีอาการบวมแดงหรือระคายเคืองได้ สิวอุดตันบางประเภท หากไม่รีบรักษา จะสามารถพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบได้หากมีการติดเชื้อ
สิวอุดตันจะเป็นตุ่มนูน แข็ง เป็นไตบนผิว
สาเหตุสิวอุดตัน
สิวอุดตัน เกิดจากไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิว เนื่องจากต่อมไขมันทำการสร้างน้ำมันมากเกินไป มีการตกค้างอยู่ในรูขุมขนและจับตัวรวมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือสิ่งสกปรกที่ตกค้างในรูขุมขน รวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดสิวอุดตัน ได้แก่
- การทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน น้ำมัน น้ำตาล มากเกินไป
- พฤติกรรมที่ทำให้เกิดความระคายเคืองบนผิว เช่น การขัดหน้า บีบสิว การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี หรือการทำเลเซอร์
- อากาศร้อนมาก ๆ ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาปริมาณมากเกินไป
- มลภาวะในชีวิตประจำวัน เช่น ฝุ่นละออง ฝุ่นควัน
- การใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาสระผม แล้วเกิดอาการแพ้สารเคมี
- เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ทำงานมากเกินไป
- ภาวะผิวหนังมีน้ำมากเกินไปในช่วงก่อนมีประจำเดือน
- การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสในการเกิดสิวอุดตันได้มากขึ้น
- ใช้เครื่องสำอางแล้วล้างหน้าไม่สะอาด มีสิ่งสกปรกตกค้าง
- ความเครียด ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
สิวอุดตันมีกี่แบบ ?
1. สิวหัวดำ หรือ สิวอุดตันหัวเปิด
สิวหัวดำ หรือ สิวอุดตันหัวเปิด (Open Comedone) จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน มีหัวสีดำอยู่ตรงกลาง เกิดจากกลุ่มเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว การอุดตันของขน เนื้อเยื่อ และไขมันภายในรูขุมขน สามารถบีบออกหรือกดให้ออกมาจากใต้ผิว แต่อาจเกิดการอักเสบและเป็นรอยสิวได้
2. สิวหัวขาว หรือ สิวอุดตันหัวปิด
สิวหัวขาว หรือ สิวอุดตันหัวปิด (Closed Comedone) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก โดยมองเห็นเป็นจุดสีขาวและไม่มีรูเปิด รากสิวประเภทนี้จะอยู่ลึกกว่าและรักษาได้ยากกว่าสิวหัวดำ หากไม่รีบรักษาสิวอุดตันหัวปิด เม็ดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีโอกาสเกิดการติดเชื้อและพัฒนาเป็นสิวอักเสบ
3. สิวอุดตันไม่มีหัว
สิวอุดตันไม่มีหัว (Microcomedone) จะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) พบได้มากในหมู่วัยรุ่น สิวไม่มีหัวจะหายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีอาการอักเสบ ก็สามารถพัฒนากลายไปเป็นสิวประเภทอื่นได้
สิวอุดตันเกิดในตำแหน่งไหนได้บ้าง ?
สิวอุดตันเกิดได้หลายตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับผิวของแต่ละคน โดยจุดที่พบได้บ่อย คือ
สิวอุดตันที่หน้าผาก
สิวอุดตันที่หน้าผาก พบได้บ่อยที่สุด เพราะหน้าผากอยู่ในบริเวณ T-Zone ซึ่งมีจำนวนต่อมไขมันมาก จึงมีการผลิตน้ำมันออกมาที่ผิวมากกว่าบริเวณอื่น ทำให้หน้าผากเป็นจุดที่เกิดสิวได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวผสม รวมไปถึงการอุดตันของสิ่งสกปรกต่าง ๆ และการดูแลเส้นผม หมวก และผ้าโพกศีรษะที่ไม่สะอาด ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวบริเวณหน้าผากได้
สิวอุดตันที่คาง
สิวอุดตันที่คาง เป็นอีกจุดที่พบได้บ่อย และมักจะมีปัญหาเกิดสิวซ้ำซาก โดยสิวอุดตันที่คางจะมีลักษณะเป็นหัวชัดเจน เป็นก้อนแข็ง หากมีสิวอุดตันที่คางแบบไม่ลึกมากก็สามารถกดออกได้ และควรกดสิวกับผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากคางเป็นจุดที่กดสิวแล้วเกิดรอยแผลเป็นง่ายมาก ๆ หากกดไม่ถูกวิธีครับ
สิวอุดตันที่แก้ม
สิวอุดตันที่แก้ม มักเกิดจากสิ่งสกปรกที่สะสมบนใบหน้า เช่น ใช้เครื่องสำอางหรือสกินแคร์ที่ก่อให้เกิดการอุดตัน การใช้แปรง พัฟ หรือฟองน้ำแต่งหน้าที่ไม่สะอาด ไม่ค่อยเปลี่ยนปลอกหมอน การสวมหน้ากากอนามัย หรือเกิดจากการแพ้สารเคมีต่าง ๆ
สิวอุดตันที่หลัง
สิวอุดตันที่หลัง เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน แบคทีเรีย ความมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเหงื่อ เมื่อใส่เสื้อผ้าที่แน่นเกินไป อากาศร้อน มีเหงื่อออกในเสื้อทำให้เกิดการหมักหมม และสิวที่หลังยังสามารถเกิดสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น ฮอร์โมน กรรมพันธุ์
การรักษาสิวอุดตัน
แนวทางการรักษาสิวอุดตันมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยาแต้ม ยากิน ยาฉีด รวมไปถึงการใช้เลเซอร์ โดยจะแบ่งวิธีการรักษาตามความรุนแรงของสิวอุดตัน
- ทายารักษาสิวอุดตัน
ยาที่ใช้รักษาสิว จะมีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Retinoids) หรืออนุพันธุ์วิตามินเอ ซึ่งเป็นยาทารักษาเฉพาะจุดที่เกิดสิวเพื่อละลายสิวอุดตัน เช่น Isotretinoin, Adapalene มีฤทธิ์ที่ช่วยสลายการอุดตันในต่อมไขมัน และชะลอการหลั่งน้ำมันส่วนเกิน รวมไปถึงสามารถเร่งการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออก
- รับประทานยารักษาสิวอุดตัน
สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวอุดตัน และสิวอักเสบร่วมด้วย แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาปฏิชีวนะ หรือจ่ายยาปรับฮอร์โมน ในกรณีที่สิวอุดตันเกิดจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เพื่อลดผลกระทบจากฮอร์โมนเพศชายที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดสิว
- การฉีดยารักษาสิวอุดตัน
การฉีดสิวนั้นใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ฉีดเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่เกิดสิว มักใช้กับปัญหาสิวอุดตันขนาดใหญ่ สิวซีสต์ สิวหัวช้าง โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นสิว แต่จะไม่ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อไม่ให้เกิดรอยบุ๋มที่ผิว ทั้งนี้หลังการรักษาก็อาจเกิดรอยบุ๋มหลังผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเป็นแผลเป็นได้ รวมถึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไตรแอมซิโนโลน เป็นวัณโรคหรือติดเชื้อราที่ผิวหนัง โรคเบาหวานชนิดควบคุมอาการไม่ได้ หัวใจวาย หรือความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง
- การกดสิวอุดตัน
วิธีกดสิวเป็นวิธีที่จะช่วยให้หัวสิวหลุดออกจากชั้นผิวหนังได้ง่ายและเร็วมากขึ้น หลายคนเวลาเป็นสิวมักจะบีบหรือกดเอง แต่ความจริงแล้วการกดสิวควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ใช้เครื่องมือเฉพาะสามารถกดสิวออกได้โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่อบอบช้ำ และมั่นใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะสิวอุดตัน หากกดไม่ถูกต้องหรือกดเอาหัวสิวออกมาไม่หมด อาจทำให้เกิดการอักเสบ เป็นรอยแดง หรือทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการรักษา (บริเวณคางเป็นจุดที่ไม่แนะนำให้กดสิวเองหากไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง เพราะเป็นจุดที่ทิ้งรอยแผลเป็นได้ง่าย)
- เลเซอร์สิวอุดตัน
การใช้เทคโนโลยีเลเซอร์รักษาสิวอุดตัน มีหลักการคล้ายการใช้เข็มเจาะเพื่อทำให้สามารถกดสิวได้ง่ายขึ้น แต่การใช้เลเซอร์จะเป็นการใช้พลังงานแสงในการเจาะแทน การกดสิวอุดตันก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยเฉพาะในจุดที่มีสิวอุดตันอยู่ลึกก็จะกดออกมาได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเลเซอร์รอยดำ รอยแดง ให้จางลง ทำให้ผิวหน้าดูกระจ่างใสขึ้นได้ด้วย
- การฉีดเมโสหน้าใส หรือ มาเด้คอลลาเจน
การฉีดเมโสหน้าใส คือการฉีดวิตามินและสารสกัดที่มีประโยชน์เข้าสู่ผิวโดยตรง เพื่อบำรุง ฟื้นฟูผิวที่เสื่อมสภาพและแก้ปัญหาต่างๆ บนผิวหน้า ยี่ห้อเมโสหน้าใสที่ได้รับความนิยมคือมาเด้คอลลาเจนครับ นอกจากจะช่วยเพื่อความชุ่มชื้นให้ผิวหน้าแล้ว ยังมีจุดเด่นในการลดสิว แก้ผื่น โดยมาเด้คอลลาเจนจะช่วยลดการอักเสบ ขับสารพิษที่สะสมออก และช่วยให้ต่อมไขมันทำงานลดลง ช่วยลดสิว แต่เพื่อให้เห็นผลชัดเจนควรฉีดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกฉีดสัปดาห์ละครั้ง เมื่อเริ่มเห็นผลชัดสามารถเว้น 2 สัปดาห์ หรือเดือนละครั้ง เพื่อรักษาผลลัพธ์ไว้ให้อยู่ได้นานครับ
อ่านบทความเพิ่มเติม : ฉีดเมโสหน้าใส คืออะไร ? อันตรายหรือไม่ ? ข้อควรรู้ก่อนทำเมโสหน้าใส
- การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery)
การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการรักษาสิวอุดตันในคนไข้ที่เป็นสิวเยอะมาก ๆ โดยการใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าลงบนผิวที่เป็นสิว เพื่อกำจัดสิวอุดตัน ใช้ตัวจี้ไฟฟ้าซึ่งปลายแหลมเหมือนปากกาจี้ที่หัวสิวอุดตันเพื่อเปิดหัวสิว แล้วใช้ที่กดสิวกดเอาสิ่งที่อุดตันออก ช่วยรักษาสิวอุดตันจำนวนมากได้ดีและรวดเร็วมากกว่าการทายาหรือแต้มยาทั่วไป
- การกรอผิว (Microdermabrasion)
การกรอผิว คือการใช้ผลึกแร่หรือผลึกคริสตัลชนิดพิเศษกรอผิวบริเวณที่มีปัญหา เพื่อทำให้สิวอุดตันหลุดออก นอกจากนี้ยังสามารถขัดผิวได้ทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ริ้วรอยที่คอ หรือบริเวณอื่น ๆ ที่มีปัญหาผิวไม่เรียบเนียน ช่วยกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วให้หลุดออก ทำให้ผิวสดใสขึ้น
เป็นสิวอุดตันไปหาหมอดีไหม ?
เมื่อเริ่มเห็นว่าเป็นสิวอุดตันสามารถไปพบแพทย์ได้ทันทีครับ หากรอให้เป็นสิวอับเสบ หรือเริ่มมีอาการหนักแล้ว การรักษาก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ดีเท่าที่ควร หากรีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีที่เป็นสิว แพทย์จะประเมินบริเวณที่เป็นสิวและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะให้ผลการรักษาที่ดีและรวดเร็ว ลดโอกาสที่จะเป็นสิวอักเสบและรอยแดง รอยแผลเป็น
การดูแลตนเองเมื่อเป็นสิวอุดตัน
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิวอุดตัน จุดสำคัญคือการรักษาความสะอาดของผิวหน้า และไม่ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มเติม
- ควรล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีความอ่อนโยนและไม่ควรล้างหน้า หรือขัดถูแรง ๆ
- ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เพิ่มความชุ่มชื้น ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน
- ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ ให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก เพื่อให้เซลล์ผิวได้ฟื้นฟู
- ลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส
- ก่อนทายาแต้มสิว ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- ไม่แกะ เกา บีบสิว หรือจับบริเวณใบหน้าบ่อย ๆ
- ห้ามเข้านอนโดยไม่ล้างเครื่องสำอาง
- ไม่ปล่อยให้ฝุ่น มลภาวะ คราบไคล สิ่งสกปรก เกาะอยู่บนผิว ควรทำความสะอาดทันที
“ ข้อควรรู้ : เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวอย่างสม่ำเสมอ สามารถใช้การฉีดเมโสหน้าใส การฉีดมาเด้คอลลาเจนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และฟื้นฟูผิวให้แข็งแรงมากขึ้น ขับสารพิษ และลดโอกาสในการเกิดสิวอุดตันได้มากขึ้น ”
การป้องกันสิวอุดตัน
การป้องกันสิวอุดตัน สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ที่กระตุ้นการเกิดสิว ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า หมั่นรักษาความสะอาดทั้งใบหน้าและเส้นผม ทำความสะอาดปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอนอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้ผิวแห้งกร้านและทำให้ผิวผลิตน้ำมันมาหล่อเลี้ยงผิวมากเกินไป
จะเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวอุดตันมีอยู่รอบตัวเรา ดังนั้นหากใครที่มีปัญหาสิวอุดตันอยู่แล้วไม่หายสักที เป็นแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกแม้จะรักษาแล้ว หมอแนะนำให้กลับมาทบทวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะเจอต้นเหตุของการเกิดสิวอุดตัน และสามารถป้องกันได้อย่างตรงจุดครับ
คำถามที่พบบ่อย
สิวอุดตันกดหรือบีบได้ไหม ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้นจริงหรือเปล่า ?
เมื่อเป็นสิวอุดตัน สามารถกดหรือบีบได้ครับ หากรู้วิธีและใช้เครื่องมือที่สะอาด แต่คนส่วนใหญ่กดหรือบีบสิวไม่เป็น อาจดันหัวสิวให้ลึกลงไปกว่าเดิม หรือทำให้หนองแตกแทรกในชั้นผิว นำไปสู่การอักเสบ และเป็นแผลเป็นได้ จึงแนะนำให้กดสิวกับผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือเฉพาะ มีความสะอาด มีเทคนิคการกดสิวที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เนื้อเยื่อช้ำ ไม่เกิดรอยแดงและแผลเป็นครับ
สิวอุดตันกลายเป็นสิวอักเสบได้ไหม ?
สิวอุดตันที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี สามารถพัฒนาความรุนแรงไปเป็นสิวอักเสบได้ครับ เมื่อรู้ว่าเป็นสิวอุดตันควรรักษาอย่างถูกต้องและทันที
สิวอุดตันหายเองได้ไหม ?
สิวอุดตันบางส่วนสามารถหายเองได้ครับ ไม่จำเป็นต้องกดหรือบีบออก โดยใช้เพียงแค่ยาละลายหัวสิวแต้ม แต่ถ้าเป็นสิวอุดตันจำนวนมาก และไม่หาย หรือมีวี่แววจะเป็นสิวอักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
สิวอุดตันรักษานานแค่ไหน ?
การรักษาสิวอุดตันต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนครับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหาแต่ละคน รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน การดูแลตัวเอง
สามารถ comment สอบถามเข้ามาด้านล่างได้เลยนะครับ หมอตอบเองครับ